สมชัย เลิศสุทธิวงค์ “เคลียร์” ก้าวต่อไปของ เอไอเอส

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ ที่สุดในประเทศไทย กำลังจะมีอายุครบ 34 ปีในปีนี้

ตลอด 34 ปีแห่งการดำรงอยู่ของเอไอเอสในประเทศไทย ผู้ให้บริการมือถือยักษ์ใหญ่รายนี้ ปรับเปลี่ยนรูปโฉมและทิศทางเรื่อยมา อันเป็นธรรมดาของธุรกิจที่ผูกติดกับเทคโนโลยี ย่อมต้องปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว ว่องไว และไม่หยุดนิ่ง

จากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Moblie Operator) เอไอเอสปรับตัวสู่การเป็น Telecom Service Provider โดยมีบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ตามบ้าน (Fixed Line Broadband) เข้ามาเสริมกำลัง จากนั้นขยับสู่การเป็น Digital Life Service Provider ซึ่งมีทั้งโครงข่ายและบริการดิจิทัลหลากหลาย จนล่าสุดมุ่งหน้าสู่การเป็น Cognitive Telco หรือองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะภายใต้เป้าหมาย 3 ปี (2565-2567)

นอกจากการแสวงหาโอกาสและการเติบโตใหม่ๆ หลังรายได้หลักจากบริการมือถือเติบโตลดลงต่อเนื่อง ปี 2566 ยังเป็นอีกปีที่มีความสำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย เพราะการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มีกำหนดเสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นในตลาดลดจาก 3 รายเหลือ 2 ราย และทรูจะขยับขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 เมื่อนับจากจำนวนลูกค้า

ขณะเดียวกัน ภายในไตรมาสสองของปี 2566 กระบวนการเข้าซื้อกิจการ 3BB จากกลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ของเอไอเอส ก็จะแล้วเสร็จเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เอไอเอสไฟเบอร์ ก้าวสู่การเป็นผู้เล่นอันดับ 2 รองจากทรูออนไลน์ทันที

ความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญยิ่งยวดในปีนี้ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอไอเอส มีมุมมองอย่างไร เชิญติดตามคำบอกเล่าของเขาผ่านการถ่ายทอดจาก “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้ ณ ต่อไปนี้

 

มองการแข่งขันหลังทรูควบรวมดีแทคไว้อย่างไร

การรับมือการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจที่เอไอเอสทำอยู่ เป็นเรื่องปกติ มันไม่ได้ต้องการการขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์เท่าไรนัก เรารู้มาตลอดว่าผู้เล่นเบอร์ 3 ต้องการขยับขึ้นเป็นเบอร์ 2 พอได้เป็นเบอร์ 2 ก็ต้องการขยับขึ้นเป็นเบอร์ 1 แต่การขยับแซงเอไอเอสขึ้นไปได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ จึงนำมาสู่การควบรวม

ถ้าให้ประเมินการแข่งขัน ผมเชื่อว่าในระยะสั้น 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเพื่อรักษาฐานลูกค้า จากสถิติทั่วโลก บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ จะสูญเสียลูกค้าราว 10-15% เพราะการควบรวมนำไปสู่การปรับลดค่าใช้จ่าย ผนวกบริการที่ทับซ้อนเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งอาจเกิดข้อติดขัด กระทบต่อคุณภาพบริการไม่มากก็น้อย นั่นเป็นเหตุให้ต้องมีการงัดกลยุทธ์ราคาออกมาปกป้องไม่ให้ลูกค้าไหลออกแน่ๆ

“ตรงนี้เราไม่มีความกังวล ธุรกิจมือถือแข่งขันกันมาตลอดอยู่แล้ว แต่หลังจาก 1-2 ปีผ่านไป การแข่งขันย่อมต้องลดน้อยลง เพราะตลาดกลายเป็นผูกขาดผู้เล่นเหลือ 2 ราย (Duopoly) อันนี้เป็นทฤษฎีที่ทุกคนรู้กัน การแข่งขันน้อยลง ราคาย่อมสูงขึ้น ในที่สุดบริษัทใหม่จากการควบรวมจะเริ่มแสวงหากำไรและหยุดแข่งขันเพื่อให้ทำกำไรได้เร็วๆ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมองค์กรต่างๆมากมาย จึงได้ออกมาคัดค้านการควบรวมดังกล่าว”

“ผมให้ไม่เกิน 2 ปี ตลาดจะกลายเป็นผูกขาด 2 รายอย่างเต็มรูปแบบ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้ ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และผู้เกี่ยวข้อง ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ”

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ "เคลียร์" ก้าวต่อไปของ เอไอเอส
ขอบคุณรูปภาพจาก : thairath.co.th

คำว่าเบอร์ 1 สำคัญกับเอไอเอสแค่ไหน

ผมว่าวันนี้ไม่มีใครพูดเรื่องการเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 แล้ว ยิ่งถ้านับความเป็นเบอร์ 1 ด้วยจำนวนลูกค้า มันเป็นเกมเก่า ในมุมธุรกิจเราวัดกันที่ผลกำไร และประสบการณ์ลูกค้ามากกว่า ความพึงพอใจของลูกค้าจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ซึ่งเอไอเอสมีเป้าหมายชัดเจนภายใต้การเป็น Cognitive Telco ตั้งแต่การสร้างความมีส่วนร่วม หรือ Interactive กับลูกค้าตลอดเวลา, การสร้างบริการที่ตอบสนองได้เฉพาะบุคคล หรือ Personalization และต้องให้บริการได้รวดเร็วและตอบสนองแบบ Real Time

ประเมินการแข่งขันหลังซื้อ 3BB อย่างไร

ตอนเราตัดสินใจก้าวเข้าสู่ธุรกิจบรอดแบนด์ตามบ้าน ต้องใช้เวลาพอสมควรในการโน้มน้าวให้ผู้ถือหุ้นเห็นด้วย โดยธรรมชาตินักลงทุนย่อมต้องการผลกำไรมากที่สุด การลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะโครงข่ายบรอดแบนด์เป็นการลงทุนมูลค่าสูง แม้เอไอเอสจะค่อยๆลงทุนอย่างสมเหตุสมผลก็ตาม

ธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ตามบ้านยังมีโอกาสเติบโตอีกมากต่างกับธุรกิจมือถือซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะอิ่มตัว ขณะนี้มีผู้ใช้บริการมือถือทั้งสิ้น 100 ล้านเลขหมาย ประเทศไทยมีประชากรราว 70 ล้านคน จำนวนผู้ใช้ต่อประชากรอยู่ที่ 140-150% เข้าไปแล้ว

ขณะที่จำนวนครัวเรือนที่มีอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ใช้อยู่ที่ 9-10 ล้านครัวเรือน จากครัวเรือนทั่วประเทศที่ 22 ล้านครัวเรือน เหลือครัวเรือนอีกเกินครึ่งที่ยังไม่มีบรอดแบนด์ใช้

หลังจากเอไอเอสได้เปิดตัวเอไอเอสไฟเบอร์ในปี 2558 ผ่านมา 7 ปี เรามีลูกค้า 2.2 ล้านครัวเรือนแล้ว ขยับขึ้นเป็นผู้เล่นอันดับ 3 ของตลาด ผมเคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราจะต้องขึ้นสู่เบอร์ 1 ภายใน 5 ปีข้างหน้า

ระหว่างนั้นก็มองหาโอกาสดีๆ เช่น การเข้าซื้อ 3BB ในราคาไม่แพงเอาไว้ พอจังหวะมาถึงจึงทำเรื่องเสนอบอร์ดพิจารณา นับจากนี้โครงข่ายหรือ Network จะมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งคนใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้นเท่าไร โครงข่ายก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น

และแม้ธุรกิจบรอดแบนด์จะมีผู้เล่นในตลาดมากกว่าธุรกิจมือถือ แต่เมื่อจำนวนผู้เล่นน้อยลง การแข่งขัน คุณภาพ ราคา ก็อาจลดลงได้

สำหรับเอไอเอสหลังควบรวมกับ 3BB ซึ่งตามกำหนดคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เราจะไม่เปิดสงครามราคาแน่ เราจะไม่ขายขาดทุนเด็ดขาด เราอยู่ในช่วงที่ต้องทำกำไรให้ได้สม่ำเสมอ โดยหากควบรวมสำเร็จ ขยับเป้าขึ้นสู่อันดับ 1 ในอีก 2 ปีข้างหน้า

สถานการณ์หลังกัลฟ์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหม่

ต้องชี้แจงว่าตอนนี้สิงคโปร์เทเลคอม (สิงเทล) ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเอไอเอสอยู่ รวมประมาณ 30% ส่วนบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถือผ่านอินทัช ซึ่งเป็นบริษัทแม่ รวมในสัดส่วนประมาณ 20%

หากถามว่ายุ่งยากขึ้นไหม มันก็ยากขึ้น เมื่อก่อนเราคุยกับผู้ถือหุ้นเดียว มาวันนี้ต้องคุยกับ 2 กลุ่ม เหนื่อยขึ้น ยากขึ้นแน่นอน แต่ถือว่ายังโชคดีที่ทั้งสิงเทลและกัลฟ์ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี หาก 2 ผู้ถือหุ้นไม่เห็นพ้องต้องกัน ผมน่าจะเหนื่อยหนัก

 

การได้กัลฟ์เข้ามาถือหุ้นยังมีมุมดีทำให้การดำเนินงานภายในประเทศของเอไอเอส ลื่นไหลและแข็งแกร่งขึ้น เมื่อก่อนมีแต่สิงเทล ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ เขาช่วยเราได้เยอะในเรื่องระดับอินเตอร์เนชั่นแนล แต่ถ้าเป็นเรื่องภายใน เราต้องทำกันเองเป็นหลัก ตอนนี้มีกัลฟ์ ซึ่งค่อนข้างแข็งแกร่ง มาช่วยเสริม

อะไรคือ New S–Curve ของเอไอเอส

เอไอเอสไฟเบอร์และเอไอเอส เอ็นเตอร์ไพร์ส ซึ่งเป็นบริการสำหรับลูกค้าองค์กรจะเป็นการเติบโตใหม่ๆ หรือ The New S-Curve ของเรา

เอไอเอสมีความแข็งแกร่งในธุรกิจมือถือ ซึ่งครองสัดส่วนรายได้ 80% ของรายได้ทั้งหมด แต่รายได้จากมือถือเติบโตในอัตราต่ำเลขตัวเดียวมาตลอด ขณะที่ธุรกิจอย่างเอไอเอสไฟเบอร์และเอ็นเตอร์ไพร์ส ซึ่งมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 20% ของรายได้ทั้งหมด กำลังมีอัตราเติบโตสูงมากที่ราว 20%

เรายังกำลังมองหาโอกาสใหม่ๆในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ยกตัวอย่างการเปิดตัวร่วมกับธนาคารกรุงไทย ให้บริการ Virtual Banking หรือธนาคารที่ไม่มีสาขา เรากับแบงก์กรุงไทยจะร่วมกันเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเพื่อให้เป็น 1 ใน 3 ผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาต Virtual Bank จากธนาคารแห่งประเทศไทย

“Virtual Bank จะถือเป็นอีก 1 การเติบโตใหม่ เชื่อว่าด้วยข้อมูลลูกค้าที่เอไอเอสมี จะสามารถให้บริการสินเชื่อลูกค้ารายย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนอกจาก Virtual Bank แล้ว ยังมีแผนบุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจประกันในระยะต่อไป”

นอกจากนั้นยังกำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติมในสาขาที่เอไอเอสไม่เคยทำมาก่อน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ นี่เป็นเหตุผลที่เอไอเอส ยังคงเปิดรับพนักงานใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง

“มีข่าวว่าเราปลดพนักงานครั้งใหญ่ ซึ่งต้องบอกว่าไม่เป็นความจริง คนที่ออกไปในแต่ละปี อยู่ที่ 200–300 คน หรือประมาณ 2–3% เป็นเรื่องปกติทุกปี ไม่มีมากกว่านั้น เราไม่มีนโยบายเลย์–ออฟพนักงาน”

 

ส่วนงบลงทุนในปีนี้ ตั้งไว้ที่ประมาณ 27,000-30,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย เนื่องจากเอไอเอสได้ลงทุนขยายเครือข่าย 5G ครอบคลุมกว่า 85% แล้ว

**********************

และนี่คือทิศทางของเอไอเอสภายใต้แม่ทัพชื่อ “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ผู้ซึ่งได้รับการต่ออายุให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีก 2 ปี สร้างสถิติซีอีโอเอไอเอสที่ครองเก้าอี้ยาวนานที่สุดรวม 10 ปี ปิดฉากข่าวเล่าขานกรณีมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แบบม้วนเดียวจบ.

ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th

สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : matrix1inc.com